ครั้งแรกที่เห็นหน้าตาของ บ้านชั้นเดียว หลังนี้ก็รู้สึกเลยว่าไม่ธรรมดา ทั้งการออกแบบและสถานที่ตั้ง เพราะอยู่กลางทุ่งแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง แต่ที่ไม่ธรรมดาที่สุดต้องยกให้เจ้าของบ้านซึ่งเป็นชายวัย 73 ปี ผู้ลงทุนควักกระเป๋าตัวเองมาสร้างบ้านหลังย่อมๆ จนกลายเป็นที่สนใจของชุมชนชนิดหัวบันไดไม่แห้งกันเลยทีเดียว
“หลายคนคิดว่าอายุขนาดผมทำไมถึงมาสร้างบ้าน แต่ผมมองอีกอย่างนะว่าอายุเท่านี้ยิ่งต้องสร้างบ้าน เพราะยังมีแรงไปไหนมาไหนได้ ผมไม่อยากเป็นภาระหรือสร้างความหนักใจให้ลูกในอนาคต ผมก็เลยต้องสร้างบ้านให้ตัวเองอยู่ได้ดีในยามแก่ที่อาจช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง แทนที่จะไปอยู่ในห้องแคบๆ ให้ลูกมาคอยดูแล ก็เลยต้องมีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งสุดท้ายแล้วต่อไปบ้านนี้ก็จะเป็นของลูกเราอยู่ดี” บ้านชั้นเดียว
คุณชำนาญ ชัชวาลยางกูร เล่าด้วยเสียงดังฟังชัดแบบนักเลงสมัยเก่า พร้อมด้วยแววตาเปี่ยมประกายความสุขอย่างเห็นได้ชัด คุณลุงบอกว่าโจทย์แรกๆ ของลุงคือความโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีพื้นที่ต่างระดับ วีลแชร์ต้องเข้าถึงทุกห้องได้ ที่สำคัญคือห้องคาราโอเกะกับเพื่อนๆ ในชมรม
“กว่าผมจะได้สถาปนิกมาสร้างบ้านต้องรอเขาอยู่ 2 ปี ตั้งแต่ที่ไปเห็นผลงานสร้างหอบูรพาจารย์ในวัดนางในธัมมิการามของอ่างทอง ผมชอบแนวคิดของเขาก็เลยถามหาคนออกแบบจากหลวงพ่อ รอคิวจนเขาว่าง ตอนแรกผมบอกอยากสร้างบ้านหลังเล็กๆ สัก 3 ล้าน แต่สถาปนิกบอกไม่สวย ถ้าจะสร้างทั้งทีทำให้สวยไปเลย จากนั้นเขาก็ไปออกแบบมาให้ผม”
คุณจิม-ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ ผู้เป็นสถาปนิกเล่าต่อว่า “คุณลุงบอกผมว่าใช้ชีวิตในตึกแถวมาตลอด ซึ่งเป็นพื้นที่จำกัดและปลอดภัยดี พอจะมาสร้างบ้านกลางที่โล่ง บางคนอาจสร้างแบบเปิดหมด แต่ผมคิดถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย เลยทำผนังบางด้านให้ทึบอย่างผนังอิฐด้านหน้าที่เป็นทั้งกำแพงและเหล็กดัดไปในตัว แต่ก็มีความโปร่งให้แสงและลมผ่านได้ แล้วผมก็สรุปความคิดในการออกแบบบ้านนี้ไว้อยู่ 3 คำคือ Balance Blend Believe ผสมระหว่างสมดุลของชีวิต เหตุกับผล และความเชื่อ”
ด้วยบรรยากาศรอบๆ ที่เป็นทุ่งนาโล่งแบบชนบท และเคยเป็นสวนมะม่วงแต่ก็โดนน้ำท่วมตายไปเมื่อปี 2554 จึงต้องมีการถมที่ใหม่ โดยคุณจิมเล็งตำแหน่งของบ้านให้มีช่องเปิดออกไปสู่ดงพุ่มยางที่สวยงาม หน้าบ้านหันออกสู่ถนน แล้วออกแบบรูปทรงบ้านชั้นเดียวบนพื้นฐานความเรียบง่ายทั้งในเรื่องเส้นสายระนาบแนวตั้งแนวนอนสลับให้สมดุล ไม่มีซอกหรือสันไว้เก็บฝุ่น และใช้วัสดุที่เป็นสัจจะแบบไม่ปรุงแต่งอย่างปูน ไม้ เหล็ก อิฐ และกรวด ภายใต้หลังคาโครงสร้างเหล็กในทรงแหงนที่เชิดขึ้นทางทิศเหนือให้ลู่ไปตามลม ตัวบ้านยกลอยขึ้นจากพื้นเพื่อให้ข้างล่างโปร่งและเอื้อต่องานระบบไปในตัว กำแพงด้านหน้าโดดเด่นด้วยอิฐ บ.ป.ก.ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นของอ่างทอง โดยนำมาจัดเรียงใหม่เพื่อให้มีช่องเปิดรับแสงเงาสวยๆ ซ้อนด้วยหน้าต่างกระจกบานเลื่อนอีกชั้นเพื่อความปลอดภัย และรอบๆ บ้านโรยกรวดแม่น้ำ เผื่อเวลามีใครเดินจะได้ส่งเสียงบอกเจ้าของบ้านให้รู้ตัว
“ผมออกแบบบ้านทรงโมเดิร์นและใช้อิฐกับปูนเปลือยก็ลุ้นเหมือนกันว่าคุณลุงจะรับได้ไหม ปรากฏว่าคุณลุงหัวสมัยใหม่มากครับ ชอบทุกอย่างเลย เพราะผมพยายามเน้นถึงการใช้งานที่สบาย ดูแลรักษาง่าย และปลอดภัย แล้วใส่ดีไซน์ซ่อนความขัดแย้งไว้ถ่วงสมดุลกันเอง เช่น ผมปิดผนังด้านนอกแต่เปิดด้านในให้โปร่งมากๆ ผมมีกำแพงอิฐแต่ก็เว้นช่องให้แสงและลมเข้า ผมยื่นอาคารที่ดูหนักแต่ก็ยกให้ลอยเหมือนเบา เวลามองรูปด้านของบ้านทุกมุมก็จะเห็นวัสดุครบทุกชนิด และที่ผมชอบอีกอย่างคือการเปิดช่องแสงธรรมชาติในมุมที่เหมาะสม ช่วยสร้างความประทับใจให้ผู้เข้ามาใช้งานได้ดีเป็นพิเศษ”
นอกจากโถงกลางบ้านที่ใช้ผ่อนคลายได้อย่างสบายแล้ว หัวใจหลักของบ้านยังอยู่ที่บริเวณระเบียงกว้าง เมื่อเปิดประตูบานเฟี้ยมออกก็สามารถเชื่อมต่อจากโถงเป็นเหมือนชานกลางบ้านไทยสมัยก่อนและยังเป็นมุมที่เห็นดงยางสวยๆ ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกด้วย
“ผมชอบทุกอย่างของบ้านเลย” คุณลุงชำนาญตอบเมื่อเราถามว่าถูกใจอะไรที่สุดในบ้าน “จากที่ผมเคยอยู่ตึกแถวแล้วได้มาอยู่บ้านที่งามขนาดนี้ ถ้าไม่ถูกใจก็ถือว่าเรื่องเยอะไปแล้วนะ (หัวเราะ) ยิ่งใครไปใครมาก็แวะมาขอชมบ้าน นิตยสารบ้านและสวนติดต่อมาขอถ่ายรูป ผมยิ่งภูมิใจและดีใจมากเลยนะ ไม่คิดว่าบ้านเราจะเป็นที่สนใจขนาดนี้ ผมไม่รู้หรอกว่าจะอยู่ได้อีกกี่ปี แต่ทุกวันต่อจากนี้ต้องอยู่อย่างมีคุณภาพ เรียกว่ายิ่งแก่เรายิ่งต้องเผ็ดนะ”
นั่นเป็นคำตอบทิ้งท้ายที่ยืนยันถึงคุณภาพชีวิตแม้อายุจะขึ้นเลข 7 แล้วก็ตาม
เจ้าของ: คุณชำนาญ ชัชวาลยางกูร
สถาปนิก: คุณธีรชัย ลี้สุรพลานนท์
เรื่อง : “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
ผู้ช่วยช่างภาพ : นิธิกร เฮงประเสริฐ
สไตล์ : สมบุญ กริ่งไกร
CR : https://www.baanlaesuan.com/112376/houses/balance-blend-believe