เสาเข็มตอกและ เสาเข็มเจาะ แตกต่างกันอย่างไร?
สำหรับความแตกต่างของเสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะนั้น อาจแบ่งเป็นลักษณะขบวนการหลัก ดังนี้
- เสาเข็มเจาะ ขบวนการหลักจะเน้นเสาเข็มหล่อในสถานที่ก่อสร้าง คือต้องเตรียมวัสดุ หิน ปูน ทราย และเหล็กเสริมไปสถานที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งเครื่องขุดเจาะขาหยั่ง 3 ขา โดยทั่วไปจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 35 ,40 ,50 ,60 ,80 ,100 ซ.ม. สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไป จะใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 ซ.ม. เจาะไปถึงชั้นทราย โดยทั่วไปบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเจาะลึกถึง 18-24 ม.แล้วแต่สภาพพื้นที่ ต้นหนึ่งรับน้ำหนักปลอดภัยได้ประมาณ 35 ตัน
- เสาเข็มตอก ขบวนการผลิตหล่อสำเร็จมาจากโรงงาน โดยผลิตเป็นคอนกรีตอัดแรงแล้วนำมายังสถานที่ก่อสร้าง การตอกจะใช้ปั้นจั่นในการตอก มีหลายชนิดหน้าตัด เช่น รูปตัวไอ สี่เหลี่ยมจัตุรัส หกเหลี่ยม กลมกลวง สำหรับบ้านพักอาศัย วิศวกรนิยมใช้รูปตัวไอเพราะมีพื้นที่ผิวสัมผัสดินมากกว่าแบบอื่น (ในขนาดที่เท่ากัน) สำหรับบ้านพักอาศัย ความยาวของเสาเข็มตั้งแต่ 8-21 ม.
“เสาเข็ม” รากฐานที่สำคัญของบ้าน
นำเสนอเรื่อง “เสาเข็ม” เสาเข็มมีประเภทอะไรบ้าง สำคัญอย่างไร ทำหน้าที่อะไร เสาเข็มแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
เสาเข็ม เป็นส่วนที่ถือว่าสำคัญที่สุดของอาคาร ทำหน้าที่ในการค้ำยันอาคาร ถ่ายน้ำหนักของตัวบ้านลงสู่พื้นดิน
ลักษณะของการรับน้ำหนักเสาเข็มมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ การรับน้ำหนักจากตัวเสาเข็ม และ การรับน้ำหนักจากชั้นดิน ซึ่งการรับน้ำหนักจากชั้นดินเป็นการใช้แรงเสียดทานของดินในการรับน้ำหนัก (Skin Friction) ร่วมกับการใช้ปลายของเสาเข็มในการรับแรงกดดันของดิน (End Bearing) โดยลักษณะของการตอกเสาเข็มเราจะตอกลงไปถึงชั้นทราย เนื่องจากเป็นชั้นที่สามารถรับน้ำหนักได้ดีที่สุด ถ้าหากตอกไม่ถึงชั้นทรายในระยะยาวจะทำให้อาคารทรุดได้ แต่ละจังหวัดก็จะมีความลึกของชั้นทรายไม่เท่ากัน อีกทั้งระยะห่างของเสาเข็มสำคัญเช่นกัน ปกติแล้วต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 3 เท่าของขนาดความกว้างเสาเข็ม เพื่อไม่ให้แรงระหว่างดินกับเสาเข็มถูกรบกวน
- เสาเข็มตอก มีทั้งเสาไม้ เสาเหล็ก และเสาคอนกรีต ส่วนมากจะนิยมใช้เสาเข็มคอนกรีต เนื่องจากราคาถูกกว่าเสาเหล็กและแข็งแรงกว่าเสาไม้ สำหรับเสาคอนกรีตแบ่งย่อยได้ 2 ชนิด ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เสาคอนกรีตอัดแรงจะเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะหน้าตัดเล็กกว่าทำให้เวลานำไปตอกจะส่งผลกระทบต่ออาคารข้างเคียงน้อยกว่า เสาเข็มตอกมีด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งแบบสี่เหลี่ยม แบบกลม แบบตัว I และแบบตัว T เป็นต้น เสาเข็มตอกสามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ราว ๆ 10-120 ตันต่อต้น
วิธีการตอกเสาเข็ม ต้องใช้ปั้นจั่นในการตอกลงไปในดิน โดยช่วงสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการตอกเสาเข็ม จะต้องมีการตรวจสอบการตอก 10 ครั้งสุดท้าย (Last Ten Blow) เข็มที่ตอกมีการทรุดตัวกว่าค่าที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าหากทรุดตัวมากเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้แสดงว่ายังไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีพอ
ข้อเสียของเสาเข็มตอก
คืออาจจะไม่สะดวกสำหรับไซต์งานที่มีพื้นที่แคบ ๆ เนื่องจากต้องขนส่งด้วยรถขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ไซต์งานที่อยู่ในพื้นที่แคบ ๆ ได้
- เสาเข็มเจาะระบบแห้ง เป็นเสาเข็มที่เข้ามาแก้ปัญหาเสาเข็มแบบตอกซึ่งไม่สะดวกสำหรับการขนย้าย ให้สามารถทำงานในสถานที่แคบ ๆ เสาเข็มเจาะระบบแห้งเป็นการทำเสาเข็มแบบหล่อในที่ มีรูปร่างหน้าตาเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-60 เซนติเมตร สามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ราว ๆ 25-60 ตันต่อต้น ความยาวประมาณ 20–30 เมตร
วิธีการทำเสาเข็มเจาะแบบแห้ง สามารถเจาะโดยใช้ขาตั้ง 3 ขา แล้วใช้ลูกตุ้มเหล็กหรือกระบะตักดินกระแทกลงไปในดินลึกประมาณ 1 เมตร หลังจากนั้นนำปลอกเหล็กตอกลงไปในหลุมเจาะ โดยปกติจะลงไปลึกประมาณ 12-14 เมตร ซึ่งระดับความลึกระดับนี้จะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อน หลังจากนั้นทำการเจาะดินโดยทิ้งกระบะตักดินลงไปในปลอกเหล็ก แล้วตักขึ้นมาทิ้งบริเวณปากหลุม การเจาะดินจะทำการเจาะไปถึงชั้นทรายแล้วจึงหยุดเจาะ เนื่องจากชั้นทรายจะมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดซึ่งจะทำให้ก้นหลุมพัง หลังจากนั้นใส่เหล็กเสริมลงไปในปลอกเหล็ก แล้วเทคอนกรีตลงไปในปลอกเหล็ก หลังจากเทเสร็จให้รีบดึงปลอกเหล็กขึ้นทันที
เสาเข็มเจาะระบบแห้ง
มีข้อดีคือเข้าทำงานในที่แคบ ๆ ได้ แต่ข้อเสียคือรับน้ำหนักได้ค่อนข้างน้อย
- เสาเข็มเจาะระบบเปียก เป็นเสาเข็มแบบคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่ รูปหน้าตัดทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75-1.50 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 150-900 ตัน/ต้น เสาเข็มระบบนี้จะเหมาะกับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น เสาเข็มระบบนี้เมื่อเจาะลงลึกกว่า 20 เมตร จะต้องใช้ละลาย Bentonite ใส่ลงไปในหลุมเจาะ เพื่อผลักน้ำออกไปจากชั้นทรายเพื่อให้สามารถเทคอนกรีตลงไปได้