-
-
“คอนกรีต” หรือที่คนภายนอกวงการก่อสร้างว่า “ปูน” เป็นวัสดุที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้ทุกวันนี้มีคอนกรีตมากมายหลายประเภท ความรู้ด้านคอนกรีตเป็นสาขาหนึ่งที่เรียกว่า “Concrete Technology” ซึ่งผู้เรียนเป็นวิศวกรโยธาต้องศึกษาเพื่อนำมาใช้งาน
การจะใช้งานคอนกรีตต้องทำให้อยู่ในสภาพเหลว (โดยการผสมน้ำ) เพื่อที่จะได้เทลงในแบบหล่อให้เป็นรูปร่างต่างๆ เมื่อแข็งตัวและแกะแบบหล่อออกก็สามารถใช้เป็นโครงสร้างรับแรงตามที่วิศวกรออกแบบ และเมื่อนำเหล็กซึ่งรับแรงอัดและแรงดึงได้มากมาประกอบกัน ก็จะได้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้งานได้ตามต้องการ
การที่คอนกรีตแบ่งได้หลายประเภทเนื่องจาก “ผงซีเมนต์” ที่เป็นส่วนผสมหนึ่งของคอนกรีตได้ถูกผลิตขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งทั่วไปมีถึง 5 ประเภท เรียกเป็นซีเมนต์ประเภท 1, ประเภท 2 จนถึงประเภท 5
5 ประเภทคอนกรีตเหมาะกับงานแบบไหน
โดยซีเมนต์ที่ใช้ทำคอนกรีตโครงสร้างทั่วไปคือประเภท 1 ซีเมนต์ประเภท 3 หรือซีเมนต์ประเภท 5 คือ ซีเมนต์สำหรับโครงสร้างที่ต้องการให้มีความต้านทานต่อการกัดกร่อนสูง เช่น โครงสร้างที่อยู่ใกล้ทะเลหรือโครงสร้างที่อยู่ในทะเล รวมถึงโครงสร้างที่จมอยู่ในน้ำ ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ต้องสามารถทนการกัดกร่อนได้สูง นี่คือตัวอย่างของซีเมนต์ที่ถูกแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ให้ตรงกับการใช้งาน
แต่ยังมีซีเมนต์อีกประเภทหนึ่งที่ไม่เหมาะกับการใช้ทำโครงสร้างเนื่องจากให้กำลังอัดที่ต่ำ แต่ถูกผลิตขึ้นมาให้เหมาะสำหรับทำงานก่อฉาบเท่านั้น
ดังนั้นซีเมนต์ที่ขายทั่วไปตามร้านขายวัสดุก่อสร้างมักจะมีเพียง 2 ประเภท คือซีเมนต์ประเภท 1 (Portland Cement) สำหรับงานโครงสร้าง และอีกประเภทที่สำหรับใช้ทำงานก่อฉาบ ผมขอยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ หากต้องซื้อมาใช้งานจะได้ไม่ถูกหลอก
ยี่ห้อปูนในตลาด
ในตลาดปัจจุบัน 2 บริษัทหลักที่มีขายทั่วไปคือกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยและกลุ่มบริษัททีพีไอ
โดยถ้าเป็นของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้างคือปูนตราช้าง และซีเมนต์สำหรับงานก่อฉาบคือปูนตราเสือ
ส่วนกลุ่มบริษัททีพีไอ ซีเมนต์สำหรับโครงสร้างคือปูนแดง ส่วนงานก่อฉาบคือปูนเขียว ส่วนกลุ่มบริษัทอื่นๆ ก็มีซีเมนต์ 2 ประเภทเช่นกัน ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านต้องซื้อหรือให้ผู้รับเหมาซื้อ ก็ควรที่จะทราบชนิดของซีเมนต์ที่จะนำมาผสมคอนกรีตให้ถูกประเภท
คุณภาพของคอนกรีตรู้ได้ไง
ในทางวิศวกรรมมีตัวชี้วัดคุณภาพของคอนกรีตคือกำลังอัดของคอนกรีตเมื่อมีอายุครบ 28 วัน มีหน่วยเป็น Ksc (Kilogram per Square Centimeter) ซึ่งหากต้องการทราบค่าจะต้องนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการตามสถาบันที่มีเครื่องทดสอบ (มหาวิทยาลัยที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์) สำหรับงานที่มีข้อกำหนดจะต้องมีการตรวจวัดค่ากำลังอัดของคอนกรีต เพื่อยืนยันว่าได้ค่าตรงตามการออกแบบโครงสร้างของวิศวกรสำหรับโครงสร้างส่วนนั้นๆ
เนื่องจากคุณภาพของการก่อสร้างของไทยมีผู้รับเหมาหลายระดับมาก คุณภาพของคอนกรีตที่ผสมขึ้นมาเองตามหน่วยงานจึงอาจมีกำลังอัดไม่ได้กำลังดีพอ และเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวกฎหมายจึงได้กำหนดให้วิศวกรโครงสร้างออกแบบด้วยการกำหนดกำลังอัดของคอนกรีตที่ไม่สูง เพื่อว่าถึงแม้ผสมคอนกรีตออกมาอย่างไรก็ยังอยู่ในข้อกำหนดของการออกแบบได้ ยกเว้นอาคารที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างดีก็จะยอมให้ออกแบบด้วยกำลังอัดของคอนกรีตที่สูงได้
วิธีเลือกใช้คอนกรีตที่ถูกต้อง
หากต้องการคอนกรีตที่มีกำลังอัดได้มาตรฐานก็ต้องใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่ผลิตจากโรงงานผลิต (Concrete Plant) และการสั่งคอนกรีตผสมเสร็จจะระบุเป็นค่ากำลังอัดของคอนกรีตที่จะใช้ แล้วถ้าสร้างบ้านและใช้คอนกรีตผสมเสร็จควรสั่งกำลังอัดเท่าไร ผมขอแนะนำให้สั่งที่กำลังอัด 210 Ksc หรือ 240 Ksc ก็เพียงพอครับ หวังว่าท่านผู้อ่านอาจจะจำบางเรื่องไปใช้งานได้เมื่อคราวจำเป็นครับ
โปรย
ถ้าต้องการคอนกรีตที่มีกำลังอัดได้มาตรฐานก็ต้องใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่ผลิตจากโรงงานผลิต (Concrete Plant) กรณีจะใช้สร้างบ้านใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่กำลังอัด 210 Ksc ก็พอ
Cr. https://www.home.co.th/living/topic-52608