ขนาดเสาบ้าน โครงสร้างส่วนสำคัญที่ทุกคนควรรู้จัก และเป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักของอาคารทั้งหลัง เมื่อเสาเกิดการวิบัติหรือพังทลาย อาจส่งผลให้โครงสร้างทั้งหลังพังถล่มลงมาได้ ดังนั้นก่อนซื้อบ้าน หรือสร้างบ้านจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดเสา เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบ้าน และรู้จักประเภทเสาบ้านแต่ละแบบ รวมถึงการดูแลเสาบ้านเมื่อเกิดรอยร้าว
เสาบ้านมีกี่ประเภท
หากแบ่งตามวัสดุที่ใช้งาน เสาบ้านจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. เสาไม้
เป็นวัสดุที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่น เช่น ไม้ตะเคียน, ไม้ชิงชัน, ไม้เต็ง, ไม้มะม่วง หรือไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้ประดู่, ไม้แดง, ไม้เกลือ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันไม้เหล่านี้หายากมาก และมีราคาแพง ข้อดีของเสาไม้ คือ ถ้าต้องการบ้านไม้ให้มีความสวยงามแบบธรรมชาติ งานไม้จะสวยงามจากลายไม้ มากกว่าเสาประเภทอื่น แต่ก็ต้องระวังเรื่องปลวกที่อาจจะมีปัญหาภายหลังได้ รวมทั้งในปัจจุบันไม้ที่จะทำเป็นเสาได้ต้องมีขนาดใหญ่ อาจจะมีขนาดเสาที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว มีน้ำหนักมาก ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างแพง และขนย้ายยาก
2. เสาปูน หรือเสาคอนกรีต
ทำมาจากคอนกรีตที่ใส่เหล็กเสริม เพิ่มความสามารถในการรับแรงอัด แรงดัด และแรงดึง โดยปกติคอนกรีตจะรับแรงอัด ส่วนเหล็กจะรับแรงดัด และแรงดึง เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ 1) เสาคอนกรีตหล่อในที่ และ 2) เสาคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป จะมีความแตกต่างในเรื่องวิธีการก่อสร้าง การรับน้ำหนัก ตามโครงสร้างของแต่ละประเภท นอกจากนั้น ยังมีเสาเหล็กผสมคอนกรีต โดยจะเป็นเสาที่ใช้เหล็กรูปพรรณ แล้วเทคอนกรีตหุ้มทับ ซึ่งมีหลายรูปแบบ แบ่งได้เป็นเสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก, เสาเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต, เสาคอนกรีตหุ้มด้วยท่อเหล็ก เสาประเภทเหล็กผสมคอนกรีตนั้น ช่วยทำให้ตัวเสารับน้ำหนักได้มากขึ้น รวมทั้งทนไฟได้มากขึ้นด้วย ลักษณะของเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก แบ่งตามลักษณะของแรงที่มากระทำ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
- เสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่รับแรงตามแนวศูนย์กลางแกนเสา
- เสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่รับแรงเยื้องศูนย์
แบ่งตามขนาดเสา ขนาดความสูงของเสา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
- เสาสั้น คือ เสาที่มีอัตราส่วนความสูงต่อด้านแคบของเสา (เสาสี่เหลี่ยม) หรืออัตราส่วนความสูงต่อเส้นผ่านศูนย์กลางเสา (เสากลม) น้อยกว่า 15
- เสายาว คือ เสาที่มีอัตราส่วนความสูงต่อด้านแคบของเสา (เสาสี่เหลี่ยม) หรือ อัตราส่วนความสูงต่อเส้นผ่าศูนย์กลางเสา (เสากลม) มากกว่า 15 ซึ่งความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาจะลดลง
ประเภท เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 1) เสาปลอกเดี่ยว เป็นเสาคอนกรีตที่เสริมเหล็ก โดยมีเหล็กยืน (ตั้งในแนวดิ่ง) รัดด้วยเหล็กปลอกเป็นวง ๆ ซึ่งเหล็กปลอกที่รัดอาจจะมีวงเดียว หรือหลายวงก็ได้ และการงอเหล็กปลอกจะงอเป็นฉาก 2) เสาปลอกเกลียว เป็นเสาคอนกรีตที่เสริมเหล็ก โดยมีเหล็กยืน (ตั้งในแนวดิ่ง) รัดด้วยเหล็กปลอกที่เป็นเกลียวรัดต่อเนื่อง เสาประเภทนี้ จะรับแรงได้ดีกว่าเสาปลอกเดี่ยวประมาณ 15% โดยปกติจะใช้กับเสากลม หรือเสาหลายเหลี่ยม 3) เสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก จะมีลักษณะเหมือนกับเสาปลอกเกลียวธรรมดา แต่จะมีเหล็กรูปพรรณเสริมอยู่ตรงแกนกลาง ส่วนใหญ่ใช้เหล็กรูปตัวไอ (I) หรือเหล็กรูปตัวเฮช (H) พื้นที่หน้าตัดของแกนเหล็ก เมื่อเทียบกับพื้นที่หน้าตัดคอนกรีตจะไม่มากนัก โดยทั่วไปนิยมใช้กับเสาที่มีแป้นหูช้าง หรือใช้เมื่อต้องการลดขนาดเสาให้เข้ากับแบบสถาปัตยกรรม
4) เสาเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต คล้ายกับเสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก แต่เหล็กที่ใช้ตรงแกน นิยมใช้เหล็กแผ่นหนา ๆ นำมาตัดเชื่อม หรือย้ำหมุดให้ได้รูปหน้าตัดเป็นตัว H ขนาดใหญ่ และหุ้มด้วยตะแกรงเหล็กเบอร์ 10 AS&W Gage และมีคอนกรีตหุ้มไม่น้อยกว่า 6 ซม. เสาชนิดนี้นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการให้เสามีขนาดเล็ก แต่รับน้ำหนักได้มาก 5) เสาคอนกรีตหุ้มด้วยท่อเหล็ก เป็นเสาที่มีเปลือกนอกเป็นเหล็ก ภายในเป็นคอนกรีต จะไม่มีการเสริมเหล็กเพิ่มภายใน เสาประเภทนี้จะรับน้ำหนักไม่มาก และตรงปลายเสาต้องใช้แผ่นเหล็กหนา 3/8 นิ้ว หรือประมาณ 10 มม. เชื่อมติดท่อเหล็ก เพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนัก
3. เสาเหล็ก
จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ประเภท คือ เสาเหล็กรูปพรรณ และเสาเหล็กโครงข้อแข็ง หากนำมาสร้างบ้าน มักจะนิยมเสาเหล็กรูปพรรณที่เป็นเหล็กรูปตัวไป (I) ตัวเฮช (H) หรือกล่อง (Tube) ข้อดีของเสาเหล็ก คือ สามารถสร้างเสร็จในระยะที่ค่อนข้างจะเร็ว ส่วนข้อเสียของเสาเหล็ก คือ ทนความร้อนได้ไม่ค่อยดี
ขนาดเสาบ้าน ควรเลือกใช้แบบไหนดี
ขนาดเสาบ้าน มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และหลายขนาด โดยขนาดเสาคอนกรีตสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะมีขนาดหน้าตัดตั้งแต่ 4, 5, 6, 7 และ 8 นิ้ว ซึ่งเสาบ้านขนาดหน้าตัด 6 นิ้ว ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาสร้างบ้าน หรือเลือกหน้าตัดขนาด 4 หรือ 5 นิ้วก็ได้เช่นกัน โดยความสูงมาตรฐานจะอยู่ที่ 2.5-2.8 เมตร ซึ่งหากชอบความโปร่ง ก็อาจจะเลือกความสูงที่ขนาด 2.8-3.2 เมตร ดังนั้น หากจะพิจารณาเลือกขนาดเสาบ้านชั้นเดียว ควรเลือกพื้นที่หน้าตัดตั้งแต่ 4-6 นิ้ว และความสูงในช่วงประมาณ 2.5-3.2 เมตร โดยพิจารณาตามความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก และการรับน้ำหนัก และเเรงต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
สัญญาณบ่งบอกอันตรายว่าเสาบ้านกำลังแย่
เสาบ้านเป็นจุดที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ของตัวบ้าน โดยมีสัญญาณอันตรายที่ควรระวังหากเสาบ้านเกิดรอยร้าว ซึ่งลักษณะของรอยร้าวที่พบจะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ 1. รอยร้าวแนวดิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโคนเสา เกิดจากการที่เสาไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีพอ หรือรับน้ำหนักมากเกินไป 2. รอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา เกิดจากการรับแรงเฉือนตอนที่อาคารมีการทรุดตัวได้ไม่เท่ากัน 3. รอยร้าวบริเวณต้นเสาและโคนเสา เกิดจากการรับแรงบิดแรงเฉือน เนื่องมาจากคานยื่นออกจากเสามากเกินไป 4. รอยร้าวในเสา เกิดจากการที่เหล็กข้างในเสาเป็นสนิม เสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง และเสามีความหนาหุ้มเหล็กน้อยเกินไป
รอยร้าว | สาเหตุ |
แนวดิ่งบริเวณโคนเสา | เสารับน้ำหนักมากเกินไป |
แนวเฉียง 45 องศา | เสารับแรงเฉือนขณะอาคารทรุดตัวได้ไม่เท่ากัน |
ต้นเสาและโคนเสา | เสารับแรงบิดแรงเฉือนจากคานที่ยื่นออกจากเสามากเกินไป |
ในเสา | เสาเป็นสนิม เสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง เสามีความหนาหุ้มเหล็กน้อยเกินไป |
ทั้งนี้ หากรอยร้าวบนเสาเกิดจากการเสื่อมสภาพตามเวลา ให้กะเทาะปูนด้านนอกและขัดเอาสนิมออก จากนั้นค่อยใช้ปูนเกราต์กำลังสูงฉาบปิดผิวเสีย แต่ถ้าเสาไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหวการเพิ่มเหล็กเสาขึ้นน่าจะช่วยได้อีกแรง จะเห็นได้ว่าเสาบ้านนั้นมีหลากหลายประเภท มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง รุนแรงถึงขั้นเกิดรอยร้าว บ้านพัง บ้านทรุด จึงควรเลือกประเภทเสา ขนาเสาให้เหมาะกับการใข้งาน สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบก่อสร้าง เช่น วิศวกร เนื่องจากการเลือกวัสดุที่ต้องรับน้ำหนักนั้น ต้องผ่านการคำนวณมาอย่างถูกต้อง และถูกวัตถุประสงค์ของการใช้งาน จึงจะมั่นใจได้ว่ามีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี และปลอดภัยต่อเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย
Cr. https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/ขนาดเสาบ้าน-61683
บริษัท พี เอส ซี กรุ๊ป(1988) จำกัด จำหน่าย เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ท่อระบายน้ำคอนกรีตอัดแรง (แบบเหลี่ยม) ท่อระบายน้ำคอนกรีตอัดแรง (แบบกลม) แผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูป