คอนกรีต คือ ?
สำหรับใครที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับงานก่อสร้าง เวลาที่ได้ยินคำว่า ปูนซีเมนต์ หรือ คอนกรีต ก็อาจจะเกิดความสับสนได้ว่าทั้งสองอย่างนี้คือคนละอย่างหรือเปล่า คอนกรีตเป็นวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น บ้าน อาคาร ถนน สะพาน และงานทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ส่วนประกอบหลักของคอนกรีตผสมมาจาก ปูนซีเมนต์, ทราย,หิน และน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ผสมกันจนกลายเป็นของเหลว หรือว่าใครที่ผสมเสร็จแล้วสามารถใส่น้ำยาผสมคอนกรีตลงไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หลังจากนั้นเราก็จะนำไปเทในพื้นที่ที่ได้เตรียมเอาไว้เพื่อทำการหล่อ ปล่อยทิ้งเอาไว้สักพักจะแปรสภาพกลับมาเป็นของแข็งจนกลายมาเป็นคอนกรีตที่เราเห็นกันนั่นเอง
ชนิดของปูนซีเมนต์
ปูนซีเมนต์ เรียกได้ว่าเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะทำหน้าที่ประสานให้ส่วนผสมอื่นๆ จับตัวกันจนกลายเป็นคอนกรีต ซึ่งปูนซีเมนต์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ นั่นก็คือ ปูนซีเมนต์โครงสร้าง จะเอาไว้ใช้สำหรับงานก่อสร้างอย่างทำเสา พื้น คาน และการสร้างทุกประเภทที่เน้นความแข็งแรง ส่วนปูนซีเมนต์งานตกแต่งจะใช้ฉาบ เน้นการประสานเพื่อให้ยึดเกาะได้ดี แต่ไม่ได้แข็งแรงเท่ากับปูนก่อสร้าง ทำให้ปูนซีเมนต์ก่อสร้างจะมีด้วยกันอีก 5 ชนิด เพื่อที่จะได้ทำโครงสร้างออกมาได้เหมาะกับอาคารนั้นๆ นั่นก็คือ
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา (Ordinary Portland Cement) เหมาะสำหรับก่อสร้างทั่วไป นิยมใช้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็ก และโครงสร้าง เช่น เสา, คาน,พื้น และถนน แต่โครงสร้างจะไม่แข็งแรงถ้าอยู่ในพื้นที่ต้องสัมผัสกับสารที่เป็นด่าง เช่น อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมเคมี หรือน้ำทะเล
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง (Modified Portland Cement) ถูกผลิตขึ้นมาให้สามารถทนกับความเป็นด่างอย่างเกลือซัลเฟตที่มีอยู่ในน้ำทะเล หรือน้ำกร่อยได้ในระดับหนึ่ง เหมาะสำหรับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น สะพาน ตอม่อ
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ให้กำลังอัดสูงเร็ว (High Early Strength Portland Cement) จะนิยมใช้กับงานที่ต้องการให้แข็งตัวเร็ว แห้งไวภายในประมาณ 1 สัปดาห์ เหมาะสำหรับหล่อทำเป็น แผ่นพื้น เสาเข็ม เสาไฟฟ้า ไม่ควรนำไปใช้กับงานคอนกรีตขนาดใหญ่ เพราะตอนที่ปูนซีเมนต์กับน้ำจะทำปฏิกิริยา ในช่วงแรกที่คอนกรีตกำลังแข็งตัวจะเกิดความร้อนสูง จึงเป็นเหตุผลที่อาจจะทำให้คอนกรีตเกิดรอยร้าว หรือแตกได้
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เกิดความร้อนต่ำ (Low Heat Portland Cement) เป็นปูนที่ช่วยควบคุมความร้อนของคอนกรีต ตอนที่ทำปฏิกิริยาระหว่างคอนกรีตกับน้ำ ไม่ให้เกิดการแตกร้าวจากความร้อนได้ เหมาะสำหรับการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างเขื่อนกั้นน้ำ
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทนซัลเฟตสูง (Sulfate Resistance Portland Cement) เหมาะสำหรับใครที่จะสร้างอาคารใกล้บริเวณทะเล หรือการก่อสร้างใต้ดิน เพราะเป็นปูนที่ต้านทานกับเกลือซัลเฟต หรือสารที่เป็นด่างได้ดี ไม่เกิดการผุกร่อนได้ง่าย แต่ว่าปูนชนิดนี้จะแห้งช้าที่สุด
คอนกรีตมีกี่ประเภท?
หลังจากที่ทำการผสมปูนออกมาพอกลายเป็นคอนกรีตก็จะมีการแบ่งประเภทของคอนกรีตอีกทีว่า แต่ละประเภทมีความจะมีความหนาแน่น และรับแรงอัดได้มากน้อยแค่ไหน โดยจะแบ่งออกเป็น 7 ประเภทที่นิยมใช้กันก็คือ
- คอนกรีตมาตรฐาน จะมีกำลังอัดอยู่ที่ 180 ถึง 400 ksc เป็นคอนกรีตที่นิยมใช้สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป อย่าง เสา คาน พื้นของฐาน
- คอนกรีตผิวเรียบ เหมาะกับคนที่อยากโชว์งานผิวคอนกรีต เน้นผิวสัมผัสที่เนียน จะไม่มีรอยของหิน, ทราย และรูฟองอากาศที่เกิดขึ้นในคอนกรีต มักจะนำไปใช้กับงานเสา ตอม่อสะพาน หรือพื้นของสนามกีฬา
- คอนกรีตพรุน ภายในชั้นของคอนกรีตจะมีลักษณะที่เว้นให้มีช่องว่างประมาณ 2 – 8 มม. เพื่อให้น้ำสามารถระบายผ่านคอนกรีตได้ ทำให้คอนกรีตแบบพรุนจะไม่มีทรายผสมอยู่ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่อยากจะให้มีน้ำขัง อย่าง พื้นของขอบสระว่ายน้ำ ลานจอดรถ
- คอนกรีตกันซึม เหมาะที่จะนำไปใช้ในพื้นที่สัมผัสกับน้ำ หรีอความชื้นโดยตรง เพราะคอนกรีตกันซึมมีคุณสมบัติทึบน้ำ ช่วยลดอัตราการไหลของน้ำซึมผ่านคอนกรีต และยังสามารถกักเก็บน้ำได้อีกด้วย มักจะใช้กับงานโครงสร้างสระว่ายน้ำ พื้นห้องน้ำ ถังเก็บน้ำ เป็นต้น
- คอนกรีตสี จะเป็นการนำสีลงไปผสมกับคอนกรีตโดยตรงเลย ส่วนมากจะเป็นการเททับด้านหน้าสุด เพื่อเป็นการตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งคอนกรีตสีจะมีแรงอัด 240 ถึง 400 ksc และนิยมใช้เป็นทางเดินตามสถานที่ต่างๆ อย่างห้างสรรพสินค้า หรือคอนโดมิเนียม
- คอนกรีตงานใต้น้ำ มีคุณสมบัติที่คุณสามารถเทคอนกรีตในน้ำได้เลย ไม่ต้องกังวลว่าคอนกรีตจะละลายไปกับน้ำ เพราะเนื้อของคอนกรีตจะมีความเหนียวเป็นพิเศษ เกาะตัวกันได้ดี และมีแรงอัด 380 – 450 ksc ใช้ได้ทั้งกับงานสร้าง และซ่อม อย่างพวกโครงของเสาขนาดใหญ่ ที่เอาไว้ค้ำสะพานข้ามคลองหรือแม่น้ำ
- คอนกรีตชายฝั่งทะเล มีคุณสมบัติที่ทนต่อการกัดกร่อนของสารคลอไรด์, สารซัลเฟต และทนกับแรงกระแทกของคลื่นที่มากระทบ จึงเหมาะสำหรับโครงสร้างที่อยู่ในระยะห่างตั้งแต่ 0 ถึง 15 กม. หรือสัมผัสกับน้ำทะเล, ไอเกลือ, น้ำกร่อย และดินเค็ม
จะรู้ได้อย่างไรว่าคอนกรีตมีความแข็งแรงแค่ไหน?
คอนกรีตจะต้องมีการทดสอบกำลังอัด เป็นมาตรฐานที่จะต้องวัดว่าคอนกรีตมีความแข็งแรง สามารถรองรับโครงสร้างนั้นๆ ได้หรือเปล่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแตกร้าว ทำให้ถล่มลงมาได้ โดยความแข็งแรงของคอนกรีตมีหน่วยเป็น ksc (กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร) อย่างเช่น คอนกรีตแรงอัดมาตรฐานจะอยู่ที่ 240 ksc หมายความว่า ในพื้นที่ 1 เซนติเมตรนั้นสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 240 กิโลกรัม
จะนิยมทดสอบ 2 แบบคือ ทรงกระบอก (Cylinder) ที่ใช้กันในประเทศอังกฤษ และประเทศไทย ส่วนทรงลูกบาศก์ (Cube) ประเทศอเมริกาจะใช้เป็นมาตรฐานในการทดสอบ ที่จะนำเข้าเครื่องอัดจนกว่าคอนกรีตจะแตก ซึ่งทั้ง 2 แบบจะมีความแข็งแรงที่ต่างกัน เวลาทดสอบด้วยแรงอัดที่เท่าๆ กัน ทรงกระบอกจะรับแรงได้น้อย เพราะด้วยรูปทรงที่มีความยาว แต่ในขณะเดียวกันทรงลูกบาศก์รับแรงได้มากกว่า ทำให้ตอนที่เริ่มใช้แรงอัดในอัตราที่เท่ากันจะกลายเป็นว่า ทรงลูกบาศก์จะเริ่มต้นที่ 180 ksc และทรงกระบอก 140 ksc หมายความว่าลูกบาศก์สามารถรับแรงอัดได้มากกว่า ซึ่งการเลือกใช้คอนกรีตจะมี กำลังอัดที่ไม่เหมือนกันในทุกงานก่อสร้างอย่างเช่น พื้นทั่วไป(พื้นปูนนอกบ้าน หรือลาดจอดรถในบ้าน) ไม่ต้องรับแรงกดมากใช้ 180 ksc และถ้าเป็นพื้นที่ในอาคารขนาดเล็ก (บ้าน หรือ ตึก 2-4 ชั้น ) ใช้กำลังอัดอยู่ที่ 240 ksc แต่ควรจะปรึกษาวิศวกรที่ดูแลโครงการก่อสร้าง หรือช่างที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการเลือกใช้กำลังอัดจะดีที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันให้โครงสร้างสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี
ปูนซีเมนต์ และคอนกรีตมีความสำคัญยังไง?
การก่อสร้างในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นการทำโครงสร้างขนาดใหญ่จะขาดปูนซีเมนต์ไปไม่ได้ เพื่อให้ได้คอนกรีตออกมาเป็นโครงหรือฐานที่ต้องการ โดยคอนกรีตแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าโครงสร้างที่คุณต้องการนั้นเป็นแบบไหนถึงจะได้ทำการผสมปูนในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพราะนอกการนำปูนผสมกับ ทราย หิน และน้ำ ยังสามารถเสริมด้วยเหล็กหรือลวดได้ สำหรับใครที่กำลังมีแพลนก่อสร้างอาคาร หรือเตรียมพื้นให้กลายเป็นคอนกรีต โดยที่จะต้องใช้ปูนในจำนวนที่มากก็คงจะผสมเองไม่ไหว การใช้บริการรถโม่ปูนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะนอกจากจะช่วยลดระยะเวลาในตอนผสมแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะใส่ส่วนประกอบในประมาณที่ผิดพลาด ทำให้คอนกรีตของคุณออกมามีคุณภาพ และแข็งแรงสามารถรองรับแรงดันได้ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.mtcement.com/คอนกรีต-คือ-มีกี่ประเภท/