โดยทั่วไปแล้วรูปทรงของรั้วบ้านมีลักษณะไม่ค่อยสมดุล
จะเห็นได้ว่าขนาดความหนาของรั้วเมื่อเทียบกับความยาวมีความแตกต่างกันมาก ถ้ารั้วมีความสูงมาก โอกาสที่จะล้มเอียงก็ยิ่งมีมากตามไปด้วย และด้วยรูปทรงที่ไม่ค่อยสมดุลเช่นนี้ หากกำแพงรั้วมีความยาวมากและเป็นเส้นตรงแนวเดียวตลอดจะเกิดการล้มเอียงได้ง่าย
เปรียบเสมือนกับนำกระดาษหรือแบงก์ร้อย แบงก์พันใหม่ๆ มาจับตั้งจะเห็นว่าทำได้ยาก ต้องจับงอโค้งหรือพับให้มีมุมก่อน เมื่อตั้งใหม่จึงจะตั้งได้ ทำนองเดียวกันนี้กำแพงรั้วที่เป็นแนวตรงตลอดแนวและมีความยาวมากควรทำตัวยึดรั้งเป็นช่วงๆ เพื่อดึงหรือค้ำยันไม่ให้ล้มเอียง
เนื่องจากรั้วมีน้ำหนักไม่มากเมื่อเทียบกับตัวบ้าน โดยทั่วไปจึงมักจะเลือกใช้เสาเข็มสั้นรองรับฐานรากของรั้ว ความยาวเสาเข็มที่ใช้อยู่ในช่วงประมาณ 26 เมตร สำหรับพื้นที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง
เสาเข็มที่มีความยาวเท่านี้ยังอยู่ในชั้นดินเหนียวอ่อน ดินเหนียวอ่อนยุบตัวได้ง่ายกว่าดินเหนียวแข็งที่อยู่ล่างลึกลงไป และการยุบตัวจะเกิดจากน้ำหนักบรรทุกที่กดทับและเกิดจากน้ำในมวลดินที่ไหลหนีออกจนเกิดโพรงภายใน เมื่อดินเหนียวอ่อนยุบตัวเสาเข็มก็จะถูกดึงตามลงไปด้วย จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับรั้วที่วางบนเสาเข็มสั้นจะเกิดการทรุดตัว
เมื่อตัดสินใจจะใช้เสาเข็มสั้นต้องทำใจไว้แต่แรกว่าต้องเกิดการทรุดตัว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการทรุดตัวไม่มาก ไม่แตกร้าวและไม่ล้มเอียง แนวทางง่ายๆสำหรับเรื่องนี้คือ – น้ำหนักของรั้วไม่ควรมากเกินไป เช่น ไม่ควรทำรั้วสูงเกินกว่า 2 เมตร วัสดุทำรั้วควรมีน้ำหนักเบาหรือเลือกทำรั้วแบบโปร่งแทน หากต้องการทำรั้วแบบทึบสูงและมีน้ำหนักมาก ควรเปลี่ยนไปใช้เสาเข็มยาวที่มีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอ และควรปรึกษาวิศวกรเกี่ยวกับขนาดและความยาวเสาเข็มที่จะใช้
– ไม่ควรเกาะเกี่ยวส่วนของรั้วเข้ากับตัวบ้าน แม้แต่จะเป็นผนังหรือส่วนยื่นของผนังบ้านก็ไม่ควร เพราะการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างฐานรากของบ้านกับฐานรากของรั้วจะทำให้เกิดการแตกร้าว รอยแตกร้าวจะเกิดได้ทั้งที่ผนังของบ้านและรั้ว
– กรณีต่อเติมบ้านไม่ว่าจะเป็นด้านข้างหรือด้านหลังไม่ควรใช้รั้วเป็นตัวรองรับส่วนที่ต่อเติม เพราะแรงดึงรั้งที่เกิดจากการทรุดตัวจะเป็นสาเหตุให้รั้วแตกร้าวและล้มเอียงได
– รั้วที่มีแนวตรงและยาวมากควรทำตัวยึดรั้งเป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันการล้มเอียง ระยะห่างระหว่างตัวยึดรั้งไม่ควรเกินช่วงละ 3.00 เมตร เว้นแต่จะได้มีการคำนวณจากวิศวกรเป็นกรณีๆ ไป ตัวยึดรั้งประกอบด้วยเสาเข็มและคานหรือเหล็กใช้สำหรับดึงและยึดไม่ให้กำแพงล้มไปทางด้านนอก หรือด้านในที่รั้วนั้นกั้นแนวเขตพื้นที่อยู่
– รั้วที่อยู่ริมบ่อ คลอง หรือขอบของพื้นดินที่ต่างระดับกันมากเกินกว่า 1 เมตร ควรทำตัวยึดรั้งเป็นอย่างยิ่ง และตำแหน่งเสาเข็มที่ใช้เป็นตัวยึดรั้งควรอยู่ห่างจากแนวเสาเข็มรั้วไม่น้อยกว่าระดับความลึกของท้องคลองหรือความต่างระดับของพื้นดิน ทั้งนี้เพื่อให้ตัวยึดรั้งอยู่พ้นแนวไหลเคลื่อนตัวของดิน ทำให้การดึงรั้งมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ท่านที่เคยมีประสบการณ์เรื่องรั้วบ้านล้มมาแล้วคงทราบดี ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วการแก้ไขรั้วให้กลับตั้งตรงใหม่เป็นเรื่องยาก และเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก บางครั้งอาจแพงกว่ารื้อทิ้งสร้างใหม่ ปัญหาอีกอย่างคือถ้ารื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดิมอีก ลองใช้แนวทางที่แนะนำข้างต้นดูครับ…จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดเกี่ยวกับรั้วได้
Cr. https://www.posttoday.com/property/4058