เสาเข็มนั้นมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับการกำหนดของวิศวกรที่จะเป็นผู้กำหนดใช้ แต่ในบทความนี้เราจะมาเริ่มทำความเข้าใจกับงานเสาเข็มตอกกันก่อน ส่วนเสาเข็มประเภทอื่นๆจะนำมาเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบกันต่อๆไปในบทความที่เกี่ยวข้องในภายหน้า
การก่อสร้างนั้นเป็นงานที่จะต้องทำด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวัง เพราะเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผู้คนไปอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรืออาคารอื่น ๆ ดังนั้นในการทำงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะดำเนินการโดยบริษัทรับสร้างบ้าน หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ จะต้องกระทำโดยผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ นอกจากนี้ในงานการวางแผนงาน และการตรวจสอบงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานก่อสร้างเช่นกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้เป็นข้อกำหนดตามกฏหมายให้บริษัทที่ทำการก่อสร้างต้องมีวิศวกรควบคุมงานและตรวจสอบ แต่ในฐานะเจ้าของบ้านถ้าเรามีความเข้าใจงานก่อสร้างไว้บ้าง เราก็สามารถตรวจสอบงานเบื้องต้นได้เช่นกัน แต่คงไม่ต้องเก่งไปถึงระดับวิศวกร
ในงานก่อสร้างที่ถือว่าเป็นรากฐานของสิ่งก่อสร้าง คือ งานเสาเข็ม และในบทความนี้ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นไว้แล้วเราจะมาแนะนำ ในการทำงาน และสิ่งที่ควรรู้ในการตรวจสอบเบื้องต้นของงานเสาเข็มตอก เพื่อให้แน่ใจว่าการก่อสร้างนั้นจะไม่มีความผิดพลาด ใดๆเกิดขึ้นกับบ้านที่ท่านสร้าง
1.การตรวจสอบก่อนการตอกเข็ม อันดับแรกคือตรวจสอบคุณภาพของเสาเข็มมี ม.อ.ก. หรือไม่ สามารถให้ผู้รับจ้าง นำเอกสารรับรอง ตรา ม.อ.ก. มาแสดง เพื่อให้มั่นใจว่าได้ของที่มีคุณภาพจริง ๆ การคำนวณของเข็มตอกก็ควรให้วิศวกรเซ็นต์รับรองเข็ม
2.ตรวจสอบเงื่อนไขการตอกเข็ม การนับจำนวนครั้งในการตอกเสาเข็ม ( Blow Count ) ซึ่งเราสามารถสอบถามจากวิศวกรผู้คุมงานได้
3.ควรดูในเรื่องของขนาด พื้นที่หน้าตัด อายุของเข็ม และ คุณภาพของเสาเข็ม ถูกต้องหรือไม่ และควรจะทำการตรวจทุกต้น เพื่อป้องกันปัญหาบ้านทรุดตัวแบบผิดปรกติ
4. หัวเข็มที่จะใช้ต้องตรวจสอบดูว่าได้ฉากกับแนวแกนหรือไม่ ความเอียงเกินข้อกำหนดหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้เราสามารถสอบถามโดยตรงจากวิศวกรควบคุมงาน
5.ความพร้อม – ปั้นจั่น และ การกองเข็ม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนั้นการวางแผนงานการจัดลำดับขั้นตอนการตอกเข็ม และทางเดินปั้นจั่นให้สอดคล้องกับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้เคียง ให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด
และสุดท้ายก่อนที่จะตอกเข็ม ต้องซ้อมความเข้าใจในการทำงานกับผู้รับเหมา ก่อนที่จะลงมือทำงาน เพื่อให้ผู้รับเหมาได้รับทราบถึงคุณภาพงาน ก่อนที่จะลงมือทำงานในจุดที่กำหนด
ในระหว่างการตอกเสาเข็มก็ควรจะตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อให้งานได้มาตรฐานตามที่กำหนด เช่นสังเกตุเสาเข็มที่ตอกไม่มีการ เฉศูนย์ หรือเกิดการหักของเสาเข็ม
และระหว่างการตอกนั้น ควรให้ผู้รับเหมามีการจดรายงานการทำงาน และกำชับระมัดระวังความปลอดภัยขณะทำการตอก หากเสาเข็มที่ตอกมีความผิดปกติต้องให้รีบรายงานวิศวกรที่ดูแลรับผิดชอบให้รับทราบในทันที
หลังจากนั้นเมื่อตอกเสาเข็มแล้ว ก็ควรจะการตรวจสอบหลังการตอกเข็มความถูกต้องของ จำนวนต้นที่ตอกและ ขนาดเสาเข็มที่ตอกไว้ เพื่อจะได้ดูความถูกต้อง โดยเฉพาะบ้านที่มีการใช้ เสาเข็มหลายขนาด จะช่วยป้องกันในการตอกผิดหลุมได้ ทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจและใช้ความสังเกตุก็สามารถ ตรวจสอบความถูกต้องได้ง่ายๆกับการทำงานของผู้รับเหมาตอกเสาเข็มแล้ว