รางน้ำฝนอีกหนึ่งส่วนสำคัญหลักของบ้านทุกหลังที่จะทำให้บ้านของคุณ สามารถรับมือกับน้ำฝนที่ตกลงมาที่บ้านคุณได้ดีมากขึ้น ซึ่งรางน้ำฝนหรือรางน้ำที่ไว้รองรับฝนนี้มีหลายประเภท ลองมาดู 4 วิธีเลือกรางน้ำฝน เลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้านคุณ และวิธีการดูแลรักษาเพื่อให้พร้อมรับมือในช่วงหน้าฝนหรือช่วงฝนตกหนักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ประโยขน์ของรางน้ำฝน
รางน้ำฝนเป็นรางน้ำที่ติดอยู่รอบชายคา หน้าที่หลัก ๆ ก็คือ รองรับน้ำฝนจากหลังคาให้ไหลไปยังท่อระบายน้ำ หรือจุดที่แต่ละบ้านกำหนด หรือหากเป็นสมัยก่อนก็จะมีการกักเก็บไว้ในตุ่มเพื่อรับประทาน หรือใช้สอยเพื่อประหยัดน้ำประปา รางน้ำฝนจึงมีส่วนช่วยให้น้ำฝนไหลรวมจากรางน้ำและไหลลงสู่ด้านล่างอย่างเป็นระเบียบนั่นเอง การมีรางน้ำฝนยังมีประโยชน์กับบ้านอีกหลายด้านดังนี้
1. ป้องกันสวน หรือต้นไม้ในบ้านจากน้ำฝน
หากภายในบริเวณบ้านมีการปลูกสนามหญ้า หรือต้นไม้สวยงาม หากไม่มีรางน้ำฝนช่วยป้องกันน้ำที่ไหลจากหลังคา จะทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นหญ้าและสวนต้นไม้โดยตร อาจทำให้ต้นไม้เสียหายหรือตายได้ และยังทำให้ดินกลายเป็นหลุมน้ำขังอีกด้วย
2. ป้องกันผนังและเฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเปรอะเปื้อน
หากน้ำฝนไหลลงมาจากหลังคาโดยตรง จะกระแทกโดนพื้นทำให้เศษดินกระเด็นมาโดนผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเปรอะเปื้อนได้ หากมีรางน้ำฝนก็จะแก้ปัญหาจุดนี้ได้
3. ป้องกันปัญหากับเพื่อนบ้าน
น้ำฝนจากหลังคาอาจกระเด็นข้ามไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ หากไม่มีรางน้ำฝน ทำให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านภายหลังนั่นเอง แต่การติดตั้งรางน้ำฝนก็ต้องระวังไม่ให้ล้ำเขตไปยังพื้นที่เพื่อนบ้าน หรือจุดที่ปล่อยน้ำด้านล่างจะไปรบกวนเพื่อนบ้านด้วย
รางน้ำฝนมีกี่ประเภท
รางน้ำฝนมีหลากหลายประเภท ส่วนมากแล้วจะแบ่งประเภทตามวัสดุที่ใช้งาน แต่ละประเภทจะมีรูปแบบที่ต่างกันออกไป และมีราคาที่ต่างกันด้วย
1. รางน้ำฝนโลหะ
– รางน้ำฝนอะลูมิเนียม เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่มักนำมาทำรางน้ำฝน เนื่องจากไม่เกิดสนิมง่าย มีความคงทนต่อการกัดกร่อนสูง น้ำหนักเบา มีความสวยงามและมีหลายสีให้เลือกมากกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น ไม่มีปัญหาเรื่องรั่วซึม เนื่องจากขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อได้ แต่ราคาสูง – รางน้ำฝนสังกะสี เป็นวัสดุที่นิยมนำมาทำรางน้ำมากในอดีต เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และมีราคาถูก แต่อายุการใช้งานค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นสนิมได้ง่าย ความสวยงามน้อยกว่าแบบอื่น และยังมีเสียงดังเมื่อน้ำฝนมาตกกระทบ – รางน้ำฝนสแตนเลส รางน้ำประเภทนี้จะมีเนื้อวัสดุเป็นสีธรรมชาติ แม้ว่าราคาจะสูงกว่ารางน้ำฝนสังกะสี แต่ดูสวยงามมากกว่า และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า (รางน้ำฝนสแตนเลส มีหลายเกรด ควรเลือกใช้เกรด 304 เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดสนิม) – รางน้ำฝนเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์ รางน้ำฝนที่ผลิตสำเร็จรูปเป็นชิ้นจากโรงงาน จึงได้มาตรฐานทั้งเรื่องขนาดและรูปทรง มีความแข็งแรง ทนการกัดกร่อน มีหลายสีให้เลือกใช้
2. รางน้ำฝนวัสดุสังเคราะห์
– รางน้ำฝนรรรรดไฟเบอร์กลาส เป็นอีกหนึ่งวัสดุใช้ทำรางน้ำที่นิยมใช้งานตามบ้าน เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความคงทนสูง ไม่เกิดสนิม มีความสวยงามเป็นเนื้อเดียว แทบไม่มีรอยต่อ มีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบสั่งผลิตตามความยาวที่ต้องการ อายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี แต่แน่นอนว่ามีราคาสูง มีหลายสีให้เลือก แต่การติดตั้งต้องใช้ช่างเฉพาะทาง – รางน้ำฝนไวนิล รางน้ำประเภทนี้จะสวยงาม ผิวเรียบมัน มีหลายสีให้เลือกเข้ากับบ้านได้ง่าย ไม่เกิดสนิม เนื้อวัสดุคล้ายกับพลาสติกแต่มีความเหนียว คงทนมากกว่าพลาสติก ติดตั้งง่ายกว่ารางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส อายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี แต่จะต้องพิจารณาเกรดของไวนิลให้ดี เพราะว่าตามตลาดจะมีให้เลือกมากมายหลายเกรด ความคงทนจะต่างกันออกไป
เลือกประเภทรางน้ำฝนให้เหมาะกับบ้าน
หากต้องการเลือกรางน้ำฝนเพื่อนำมาใช้งานที่บ้าน จะต้องทำการพิจารณาหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้เหมาะสมกับบ้าน และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน รวมถึงสมาชิกให้มากที่สุด โดยมีหลักการพิจารณาง่าย ๆ ดังนี้
1. งบประมาณเหมาะสม
สิ่งแรกที่หลายคนใช้พิจารณาเป็นอันดับแรก ซึ่งรวมถึงค่ารางน้ำฝน และค่าติดตั้ง ลองสำรวจราคาจากร้านที่รับติดตั้งรางน้ำ ทั้งค่าวัสดุและค่าติดตั้งดูว่าแบบไหนถึงเหมาะกับงบประมาณมากที่สุด
2. คุ้มค่า
หากเลือกข้อนี้ ควรพิจารณาจากวัสดุของรางน้ำฝนเป็นอันดับแรก โดยปัจจุบันมีให้เลือกหลายประเภท และหลายขนาด หากมองหาความคุ้มค่าก็ควรเลือกรางน้ำอะลูมิเนียม ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น
3. ขนาดพื้นที่หลังคา
หากหลังคามีขนาดใหญ่ ควรเลือกขนาดรางน้ำให้เหมาะสม โดยปัจจุบันขนาดรางน้ำมีให้เลือกทั้งขนาด 4, 5 และ 6 นิ้ว หากหลังคาขนาดใหญ่ควรเลือกขนาด 5 นิ้วขึ้นไป และหากหลังคามีความยาวมาก ควรเพิ่มรูระบายน้ำหลาย ๆ จุด เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน
4. การติดตั้ง
โดยปกติรางน้ำฝนจะติดตั้งกับเชิงชายหรือไม้ปีกนกโดยการใช้ตะปูหรือน็อต หรือรางน้ำบางประเภท เช่น รางน้ำฝนสังกะสีจะใช้การแขวนกับจันทัน การติดตั้งรางน้ำหากเป็นการติดตั้งบริเวณหลังคาโรงจอดรถ หรือหลังคาครัวไทยหลังบ้าน หากอุปกรณ์ครบก็สามารถติดตั้งเองได้ แต่หากเป็นบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม 2 ชั้น ควรใช้บริการช่างจะดีกว่า เพราะบางวัสดุ เช่น รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาสต้องใช้ช่างเฉพาะทางมาติดตั้ง
4. ความสวยงาม
หากต้องการเลือกรางน้ำฝนที่เข้ากับสีสันของหลังคาหรือตัวบ้าน ควรเลือกรางน้ำฝนที่มีสีให้เลือกหลายสี เช่น รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส หรือรางน้ำฝนอะลูมิเนียม แทนรางน้ำฝนสังกะสี
วิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝนให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา
สำหรับวิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝนให้ยังคงสภาพการใช้งานที่ดีอยู่นั้นทำได้ไม่ยาก มีวิธีการดังนี้ 1. หมั่นตรวจสอบการทำงานของรางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีฝนตก หรืออาจทดลองฉีดน้ำบนหลังคา แล้วสังเกตว่ามีการรั่วหรือซึมที่ส่วนไหนของรางน้ำฝนหรือไม่ เพื่อดำเนินซ่อมแซมก่อนช่วงที่ฝนตกหนัก สังเกตตะขอแขวนรางว่ายังคงมั่นอยู่หรือไม่ หากน้ำฝนปริมาณมากจะได้ไม่มีปัญหารางน้ำหล่นมาพังเสียหาย 2. ทำความสะอาดรางน้ำฝนเป็นประจำ ปัญหาหนึ่งที่มักพบกับรางน้ำฝนคือ หลังจากห่างหายจากหน้าฝนมาสักระยะเจ้าของบ้าน หรือผู้อยู่อาศัยมักหลงลืมการทำความสะอาดรางน้ำ ทำให้มีเศษใบไม้หรือเศษต่าง ๆ ตกค้างอยู่ในรางน้ำ ทำให้เกิดการอุดตัน หรือหากเศษต่าง ๆ มีน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้รางน้ำพังเสียหายได้
ค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการติดตั้งรางน้ำฝนแต่ละประเภท
สำหรับรางน้ำฝนแต่ละแบบนั้นมีราคาที่ต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันออกไปตามราคาค่าติดตั้ง หรือเกรดวัสดุ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
ประเภทรางน้ำฝน | ราคาโดยประมาณ |
รางน้ำฝนไวนิล ยาวมากกว่า 20 เมตร | 750 บาท/เมตร |
รางน้ำฝนอะลูมิเนียม | 1,000 บาท/เมตร |
รางน้ำฝนสแตนเลส ขนาด 6 นิ้ว ยาวมากกว่า 20 เมตร | 1,000 บาท/เมตร |
รางน้ำฝนแบบสังกะสี | 300 บาท/เมตร |
รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส | 800 บาท/เมตร |
วิธีการติดตั้งรางน้ำฝนที่ถูกต้อง
วิธีการติดตั้งรางน้ำฝนแต่ละประเภทจะมีการติดตั้งที่ต่างกันออกไป โดยวิธีการติดตั้งรางน้ำฝนเบื้องต้น มีดังนี้ 1. สำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้งรางน้ำฝน เช็กความแข็งแรงของบริเวณเชิงชาย หรือปีกนกที่จะติดรางน้ำ หากมีการรื้อรางน้ำเก่าออกก่อน ระวังอย่าให้กระทบกับโครงสร้างหลังคา 2. วัดระดับน้ำระหว่างหัวท้ายของรางน้ำ เพื่อวัดความลาดเอียงของรางน้ำ จากนั้นทำการตีเต๊าหรือเชือกตีแนว เพื่อสร้างแนวเส้นที่จะติดตั้งรางน้ำ 3. ติดตั้งตะขอแขวนราง ตามระยะที่เหมาะสมกับประเภทรางน้ำ ซึ่งแต่ละประเภทมีระยที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยทั่วไปจะเว้นระยะห่างประมาณ 60-80 เซนติเมตร หากเป็นรางน้ำฝนไวนิลจะต้องใช้ซิลิโคนในการช่วยเชื่อมระหว่างรอยต่อ 4. ติดตั้งรางน้ำฝนกับผนังหรือเสาด้วยตัวยึด 5. เช็กการทำงานของรางน้ำฝนด้วยการทดลองฉีดน้ำบนหลังคา หากน้ำไหลเป็นปกติก็เป็นอันเรียบร้อย
ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไร ไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนบ้าน
การติดตั้งรางน้ำฝนยื่นเลยออกไปในขอบเขตของเพื่อนบ้าน ทำให้น้ำที่ล้นจากรางกระเด็นเข้าไปในบ้านข้าง ๆ เป็นสิ่งที่นำพาไปสู่การมีปัญหากับเพื่อนบ้านที่พบเห็นกันได้บ่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การติดตั้งรางน้ำฝนต้องหาระยะในการติดตั้งที่ถูกต้อง ตามข้อกฎหมายการสร้างบ้านต้องระวังเรื่องการระบายน้ำฝน เพื่อไม่ให้การระบายน้ำกระทบต่อที่ดินข้างเคียง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ข้อ 2 บอกไว้ว่า “อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีการระบายน้ำฝนออกจากอาคารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือเกิดน้ำไหลนองไปยังที่ดินอื่นที่มีเขตติดต่อกับเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารนั้น” ประกอบกับกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อ 50 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) “กำหนดให้ แนวผนังอาคารต้องร่นจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร และเป็นผนังทึบ” ดังนั้น หากติดตั้งรางน้ำฝนกับหลังคาที่มีการติดตั้งเชิงชายเรียบร้อยแล้ว ระยะยื่นปลายกระเบื้องหลังคารางน้ำฝนจะใช้พื้นที่ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยกเว้นกรณีทำรางให้มีความกว้างพิเศษหรือรางคอนกรีตที่กำหนดขนาดเอง รางน้ำฝนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านของคุณมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และป้องกันปัญหาต่าง ๆ นานาที่อาจเกิดขึ้นกับเม็ดฝนเม็ดเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของต้นไม้ สนามหญ้า หรือปัญหากับเพื่อนบ้าน
Cr. https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/รางน้ำฝน-การติดตั้งและการดูแลรักษา-29301
บริษัท พี เอส ซี กรุ๊ป(1988) จำกัด จำหน่าย เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ท่อระบายน้ำคอนกรีตอัดแรง (แบบเหลี่ยม) ท่อระบายน้ำคอนกรีตอัดแรง (แบบกลม) แผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูป